กรดไหลย้อนคืออะไร ป้องกันอย่างไรเรามีคำแนะนำ

0
19473

กรดไหลย้อนคืออะไร ป้องกันอย่างไรเรามีคำแนะนำ

โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่มีการพูดถึงกันมากในยุคปัจจุบัน สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นเองก็อาจจะยังนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกันสักนิด

กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เจ้าตัวมีอาการระคายบริเวณลำคอและแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการจะคล้ายๆ เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เหมือนอาหารไม่ย่อย เรอบ่อยมีรสเปรี้ยว บางทีน้ำดีซึ่งมีรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปากหรือคอ นอกจากนั้นยังอาจมีอาการข้างเคียงอย่างอื่นปนมาด้วย

โรคกรดไหลย้อนนี้มีวิธีป้องกันอย่างไรหรือไม่ คงต้องมาดูกันให้เข้าใจก่อนว่า มันเกิดจากอะไร จะได้ป้องกันได้ถูก

สาเหตุและการป้องกันโรคกรดไหลย้อน

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ ก็คือ การทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำงานผิดปกติ เช่น มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างโดยไม่มีการกลืน หรือ ความดันของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างลดลง จนทำให้ไม่สามารถต้านการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดกรดไหลย้อนขึ้นมา

1. สาเหตุของโรคที่ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม ถ้าเกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างผิดปกติเนื่องจากมีความเสื่อมไปตามวัย หรือผิดปกติมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากระดับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายส่งผลกระทบถึงหูรูด อันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ฯลฯ ถ้าเป็นเช่นนี้คงต้องป้องกันโดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แต่หากเป็นอาการผิดปกติตั้งแต่เกิดก็ต้องรักษาเลย ไม่สามารถป้องกันได้

  1. สาเหตุของโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ถ้าไม่อยากเป็นโรคกรดไหลย้อนต้องละเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การงดกินอาหารอาหารรสจัด อาหารประเภทมีไขมันสูง ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมการนอนหรือเอนกายทันทีหลังรับประทานอาหาร ตลอดจนความเครียด และที่ไม่น่าเชื่อคือการสวมเสื้อผ้าคับและรัดเข็มขัดแน่น สิ่งเหล่านี้หลีกเลี่ยงได้ก็ป้องกันได้

ป้องกันได้อย่างไร

(1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้

– พฤติกรรมการบริโภค
1.ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย
2.หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด
3.หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
4.หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่

– พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
1.ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3ชั่วโมง
2.รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4.พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด
5.สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น