นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุอาการของโรค วิธีการรักษา ที่นี้มีคำตอบ
นิ่วในถุงน้ำดี มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนแข็งๆ ที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี มีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายจนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ ส่วนปริมาณนั้น อาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็เป็นได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี
ตับที่เป็นอวัยวะสร้างน้ำดี ซึ่งจะส่งไปเก็บที่ถุงน้ำดี เมื่อต้องการไปย่อยไขมัน ถุงน้ำดีก็บีบตัวส่งน้ำดีไปตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้และย่อยอาหาร กรณีที่มีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดีหรือมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีไม่เพียงพอ ก็ทำให้เกิดนิ่วได้ นิ่วอีกแบบหนึ่งเกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนผลึกเป็นก้อนคล้ายกับน้ำตาลที่ตกตะกอน พบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือมีความผิดปกติของเลือด
อาการของโรค
- คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา มีอาการปวดเป็นระยะๆ และอาจมีผลข้างเคียงไปถึงปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
- คลื่นไส้อาเจียน มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร เสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน เป็นต้น
- กรณีเป็นเฉียบพลัน จะปวดท้องใต้ชายโครงขวา และมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้มด้วย
วิธีการรักษานิ่วในถุงน้ำดี
โรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาละลายนิ่ว แต่การรักษาแบบนี้นิ่วจะมีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้อีก แต่ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ต้องรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งมีทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่าโดยวิธีส่องกล้อง
แต่การจะผ่าตัดได้หรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์หากพบภายใน 72 ชม.หลังจากมีอาการ และไม่มีข้อห้ามอื่น ๆ สามารถผ่าตัดได้เลย แต่ถ้ามีอาการมานานกว่า 72 ชม. อาจต้องใช้วิธีให้ยาปฏิชีวนะก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นจริงๆ จึงค่อยพิจารณาเรื่องผ่าตัด ที่ต้องเป็นเช่นนั้น เนื่องจากถุงน้ำดีเป็นเพียงตัวเก็บพักน้ำดี ในกรณีที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก น้ำดียังคงถูกสร้างจากตับและไหลลงมาตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันตามปกติ เพียงแต่อาจไม่เข้มข้นเท่าเดิมเท่านั้น
แต่พึงระลึกถึงเสมอว่า การรักษาการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้อีกต่อไป และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ด้วย ส่วนการรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่ว ใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิด และต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก