ช่องคลอดแห้ง แนะนำวิธีการแก้ไขที่หลายคนยังไม่รู้
อาการ “ช่องคลอดแห้ง” เริ่มเป็นที่พูดถึงในหมู่ผู้หญิงยุคนี้ที่กล้าเปิดเผยมากขึ้น ทั้งที่อาการเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงมานานแล้ว โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่อยู่ใน “วัยทอง” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงทุกวัย ดังนั้นจึงควรศึกษาเพื่อทำความเข้าใจจะได้ดูแลตัวเองให้ถูกทาง
ช่องคลอดแห้งคืออะไร
โดยปกติช่องคลอดของผู้หญิงจะมีเมือกหล่อลื่น แต่เมื่อมีอาการช่องคลอดแห้ง (Vaginal Dryness) ก็คือ มีอาการแห้ง ขาดความชุ่มชื้นจากเมือกหล่อลื่นตามปกติ อาจหายไปเลยหรือมีน้อยลง จนทำให้เยื่อบุช่องคลอดมีสภาพแห้ง จนเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ
อาการบอกเหตุว่าช่องคลอดแห้ง
- รู้สึกแสบร้อนภายในช่องคลอดโดยไม่มีสาเหตุจากโรคภัยอื่นๆ บางคนถึงกับมีอาการระบมภายในช่องคลอด รวมถึงมีตกขาวผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์ จะเจ็บปวดเนื่องจากมีการเสียดสีมากกว่าปกติที่มีเมือกหล่อลื่น อาการเจ็บนั้นอาจมีเลือดออกด้วย
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ช่องคลอดแห้งก็คือ
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนสำคัญของเพศหญิงลดน้อยลง จากหลายกรณี เช่น อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือผู้หญิงวัยทอง กำลังก้าวเข้าสู่วัยชรา พ้นจากวัยเจริญพันธุ์ เอสโตรเจนจะลดลง
- เกิดจากการติดเชื้อที่ทำให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุเช่น ใส่ห่วงคุมกำเนิด ระคายเคืองภายในจากยาฆ่าสเปิร์มที่อยู่กับถุงยางอนามัย หรืออาจเกิดจากกรณีติดเชื้อรา โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นต้น
- สาเหตุจากยาบางชนิดก็ทำให้ช่องคลอดแห้งได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษามะเร็ง ยาบรรเทาอาการซึมเศร้า
- การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลรักษาความสะอาดภายในช่องคลอด
- เกิดจากสภาวะจิตใจ เช่น มีความเครียดสูงจนส่งผลให้ฮอร์โมนทางเพศหลั่งออกมาผิดปกติ หรือเกิดจากอาการกลัวการมีเพศสัมพันธ์
วิธีแก้ไขเมื่อมีภาวะช่องคลอดแห้ง
1.ดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงเป็นปกติ หมั่นออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ร่างกายจะได้เข้าสู่ภาวะปกติ
2.ปรับเรื่องสภาวะด้านจิตใจ ไม่เครียดกังวลกับเรื่องใดๆ เพราะร่างกายเกิดภาวะจากจิตใจได้
3.ดูแลเรื่องอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมจะทำให้ร่างกายได้รับไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งมีการทำงานคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน
4.ไม่ใช้น้ำยาสวนช่องคลอด เพราะอาจทำปฏิกิริยาหรือทำให้สภาวะในช่องคลอดเสียสมดุล
5.งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลถึงสภาวะทางจิตใจ
ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติจนมีผลกระทบต่อการครองเรือนควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไข